กลุ่ม Yold จะกลายเป็น ผู้มีอิทธิพลที่สุดในโลก
Young Old หรือ Yold เป็นศัพท์ที่ถูกเรียกในญี่ปุ่น สำหรับเรียกผู้สูงอายุวัย 65 – 75 โดยหากเทียบกับเจเนอเรชัน “เบบี้บูม” ซึ่งมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปีแล้ว ปีที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุด จะอยู่ที่ปี 2498 – 2503 ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้ จะมีอายุตั้งแต่ 60 – 65 ปี ปัจจุบัน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การ “เกษียณอายุ” ของคนกลุ่มนี้ จะอยู่ที่ 65 ปี อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2568 การเกษียณอายุของคนกลุ่มนี้จะ “ขยับขึ้น” ไปอยู่ที่ 65 ปี หรือมากกว่านั้น
สุขภาพทางการเงินของคนกลุ่มนี้ก็ดีไม่แพ้กัน มีการสำรวจพบว่า ระหว่างปี 2532 – 2556 ครอบครัวของผู้ที่อายุ 62 ปีขึ้นไปมีทรัพย์สินเฉลี่ยมากขึ้นกว่า 40% อยู่ที่ 2.1 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8 ล้านบาท) ขณะที่กลุ่มประชากรอื่น ๆ กลับมีทรัพย์สินเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า คนกลุ่ม Yold ยัง “ยุ่ง” มากขึ้น ในปี 2559 มากกว่า 1 ใน 5 ของคนวัย 65 – 69 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังคงทำงานอยู่ มีงานวิจัยพบว่า ยิ่งคนกลุ่มนี้ทำงานมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้พวกเขามีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้น การศึกษาในเรื่องที่ใกล้เคียงกันจากเยอรมนี ยังพบด้วยว่า ยิ่งวัยเกษียณยังคงทำงานต่อเนื่องต่อไป ภาวะถดถอยของการ “รับรู้” ในวัยชราจะลดน้อยลง รวมถึงการรับรู้จะดีขึ้นกว่าอายุจริงถึง 1 ปีครึ่ง
Generation วัยเกษียณถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อสูง
สิ่งที่เริ่มสะท้อนให้เห็นแล้วก็คือ ในบรรดาธุรกิจสายการบินทั่วโลก “ลูกค้า” กลุ่มใหญ่ที่สุดคือผู้โดยสารวัย 60 ปี ในธุรกิจท่องเที่ยวก็เช่นกัน เจเนอเรชั่นเกษียณอายุ ถือเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายต่อหัวสูงที่สุด เมื่อเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ และในด้านการศึกษาก็เช่นกัน ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีนักศึกษาแผนกการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ และวัยเกษียณอายุ สัดส่วนเพิ่มมากขึ้นกว่านักศึกษาปกติ ขณะเดียวกัน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันสุขภาพ ก็เปลี่ยนตัวเองจากการจ่ายบำนาญด้วย “อัตราคงที่” ไปสู่การบริหารเงินบำนาญให้แอคทีฟมากขึ้น และให้ผลตอบแทนมากกว่าเดิม