สาระน่ารู้

ธรรมะกับผู้สูงอายุ โดย พระราชสุทธิญาณมงคล

ผู้สูงอายุทั่วไปมักจะหลงลืมง่าย แม้กระทั่งกินอาหารแล้วก็ว่ายังไม่กิน เหตุเพราะขาดสติ หรือไม่เจริญสติอยู่เป็นประจำวันไว้ก่อน แม้ว่าจะมาเจริญในเมื่อสูงอายุก็มักจะไม่ทันใช้ คือมักจะไม่ได้ผล

ผู้สูงอายุทั่วไปมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ด่า หรือ บ่นเก่ง จนลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้ เพราะเบื่อระอาในความจู้จี้ขี้บ่น เหตุเพราะจิตขาดสมาธิและไม่มีสติควบคุม

ธรรมะรักษา คำว่า ธรรม ในที่นี้ ขอให้ความหมายตามความเห็น ของท่านพันเอกปิ่น มุทุกันต์ ว่าความถูก และความดี ใครก็ตามปฏิบัติตนถูกต้องและดีงามก็ถือว่า ผู้นั้นมีธรรมะหรือปฏิบัติตามธรรมะแล้ว

“คำว่าผู้สูงอายุ” ในที่นี้ ให้หมายเอาบุคคลที่มีอายุตัวหน้าเลข ๕ นำไปแล้ว แม้ว่าบางคนจะดูไม่แก่ไม่ชรา เพราะเหตุว่าบริหารร่างกายและจิตใจดีก็ตาม

คนสูงอายุ ๓ ประเภท

ก. สูงอายุทางร่างกาย

ได้แก่ บุคคลที่ร่างกายเจริญเติบโตไปตามวัยหรือตามธรรมชาติ พร้อมทั้งอายุสมองก็เจริญตามไปด้วย ถ้าเกิดว่ามีใครอายุสมองเจริญไม่ทันร่างกายก็จะได้ชื่อว่า เฒ่าทารก กล่าวคือ มีอายุร่างกายมากแล้ว ยังไปทำอะไร ๆ ให้ลูก ๆ หลาน ๆ อับอายหรือหัวเราะเยาะเอาได้

ข. สูงอายุทางสมอง

ได้แก่ บุคคลที่สมองเจริญเติบโตไปตามวัย ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน หรือประเภทที่เรียกว่า “เลี้ยงไม่รู้จักโต” ถ้าสมองเจริญกว่าร่างกายเขาก็เรียกว่า แก่แดด เรามักจะว่าเด็กที่รู้อะไรเกินวัยว่าเป็นเด็กแก่แดด แต่ถ้าใครเกิดว่าอายุสมองเจริญมากเกินไป ก็เรียกว่า “อัจฉริยะ”

ค. สูงอายุทางคุณธรรม

ได้แก่ บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญามีคุณธรรมประจำจิต จัดว่าเป็นบุคคลที่มีแก่น หรือมีสาระแห่งชีวิต เป็นคนสูงอายุที่มีค่าและประเสริฐ ยิ่งมีอายุมากเท่าไรก็ยิ่งจะมีค่ามากขึ้นเท่านั้น เพราะย่อมจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้พึ่งพิง ถ้าเป็นมะพร้าวก็เรียกว่า ยิ่งแก่ยิ่งมัน

บุคคลที่สมบูรณ์จะต้องผนวกเอาทั้ง ๓ สิ่งที่กล่าวมาไว้ในตนให้ครบ แต่ถ้าเกิดว่าใน ๓ สิ่งนี้มันจะขาดไปสัก ๑ หรือ ๒ ก็ตาม ก็ควรจะเป็นข้อ ก. และข้อ ข. ตามลำดับ ถ้าขาดข้อ ค. ไปเพียงข้อเดียวก็จะทำให้ทุกคน มิใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่ไร้ค่า หรือจะเรียกว่า เสียชาติเกิดก็คงจะไม่ผิดความจริงไปนักมิใช่หรือ เพราะตามหลักธรรมะนั้น มิได้วัดค่าของคนที่ร่างกายหรือสมอง แต่ท่านวัดคนที่คุณธรรม เพราะค่าของคนมิได้อยู่ที่ร่างกายหรือสมอง แต่อยู่ที่สาระแห่งชีวิตหรือคุณธรรมที่มีอยู่ประจำอยู่ที่จิตใจ สมกับค่าของคนสมัยก่อนที่ว่า “คนเรามิได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน” เท่านั้นดอก แต่จะต้องเป็นคนสูงอายุเพราะมีสาระและคุณธรรมต่างหาก ที่ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งจะเป็นที่ภาคภูมิใจ หรือเป็นหลักให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ลูกหลาน หรือคนทั่วไป

Show More

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button