มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกกำลังกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ แถลงข่าวความสำเร็จในการศึกษาประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ของ“กระชายขาว” หลังแล็บชี้มีศักยภาพยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้ 100% ที่ปริมาณความเข้มข้นของยาในระดับน้อยๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ พร้อมทดลองในสัตว์ก่อนต่อยอดสู่คน
รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น และระดมทีมนักวิจัยร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กับคณะวิทยาศาสตร์ จัดเป็น “คลัสเตอร์วิจัยโควิด-19” โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มงานวิจัยหลัก ซึ่ง 1 ใน 5 กลุ่มงานวิจัย คือการค้นหาพัฒนายาใหม่ ร่วมกับกลุ่มงานวิจัยด้าน Serology and Plasma Therapy ซึ่งเป็นการดึงสรรพกำลังด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงาน
ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มตรวจวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์จากสารสกัดธรรมชาติ รวมถึงสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันที่มีฤทธิ์ต่อ SARS-CoV-2 ได้แก่ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ที่มีระบบปฏิบัติการตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 มีความเชี่ยวชาญในการคัดแยกและเพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD ซึ่งเป็นคลังจัดเก็บสารสกัดสมุนไพร และดำเนินการด้วยเทคโนโลยี High-Throughput Screening (HTS) ซึ่งมีศักยภาพในการคัดกรองสารออกฤทธิ์พร้อมกันจำนวนมาก ภายในระยะเวลารวดเร็ว
ด้าน ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา กล่าวว่า เริ่มแรกมีการคัดแยกและเพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 จากผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (BSL-3) ที่นำทีมโดย รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ เพื่อเตรียมไว้ จากนั้นศูนย์ ECDD ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มในการจัดเก็บสารสกัดสมุนไพรไทย
เมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่ากระชายขาวให้ปริมาณฤทธิ์ความเข้มข้นกว่าสารสกัดบริสุทธ์ฟ้าทะลายโจรถึง 30 เท่า และดีกว่าสารสกัดขิง 10 เท่า จึงพบว่าดีที่สุดในสารที่มี จากนั้นเราก็เจาะลึกเพื่อดูว่าสารสำคัญอะไรที่อยู่ในกระชายขาวที่เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เกิดการยับยั้งได้ซึ่งก็พบว่า แพนดูราทินเอ (Panduratin A) และ พิโนสโตรบิน (Pinostrobin) เป็นตัวหลักๆที่ยับยั้งเชื้อไวรัสได้ ขณะเดียวกันเราดูสาระสำคัญ 2 ตัวพบว่ามีปริมาณสาระสำคัญที่ตอบโจทย์คุณสมบัติที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเท่าไรที่มีความเข้มข้นของยาระดับน้อยๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งผลดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบเทียบเคียงกับผลการยับยั้งของ FDA approved drugs ได้แก่ ยานิโคลซาไมด์ (niclosamide) และยาไฮดร็อกซี่คลอโรควิน (hydroxychloroquine)ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐแนะนำ โดยมีแผนการตรวจวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงกลไกระดับเซลล์ต่อไป