นิ่ว เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นก้อน มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกันไป โดยมักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่อาจพบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ และบริเวณอื่น ๆ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วทอนซิล โดยนิ่วอาจสร้างความเจ็บปวดทรมานให้ผู้ป่วยได้หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนอุดตันและทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะมีอาการแสดงแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดนิ่ว
- อาการของนิ่ว
อาการป่วยหลังจากมีนิ่วเกิดขึ้นในร่างกายจะแตกต่างไปตามตำแหน่งที่เกิดนิ่ว ขนาดของนิ่ว และความรุนแรงของอาการป่วย โดยมีตัวอย่างนิ่วที่พบได้บ่อย ดังนี้
- นิ่วในไต
ก้อนนิ่วในไตที่มีขนาดเล็กมากอาจหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการหรือความรู้สึกเจ็บปวดใด ๆ แต่หากก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวรอบ ๆ ไตหรือไปยังท่อไต ซึ่งเป็นท่อเชื่อมต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจมีอาการ เช่น ปวดบริเวณหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง ปวดบริเวณขาหนีบ ปวดบีบเป็นระยะ ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล เจ็บปวดขณะปัสสาวะ ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะน้อย นอกจากนี้ อาจมีอาการของกรวยไตอักเสบ เช่น ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น เป็นไข้ เป็นต้น
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ป่วยนิ่วชนิดนี้มักแสดงอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น ปวดท้องส่วนล่าง ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่อวัยวะเพศหรืออัณฑะ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบากหรือติด ปัสสาวะขุ่น มีสีเข้มผิดปกติ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
- นิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีมักไม่ก่อให้เกิดอาการป่วย แต่หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีและเกิดการอุดตัน อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวาและอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา ปวดกลางท้องหรือบริเวณใต้กระดูกหน้าอกอย่างกะทันหันและรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ อย่างอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมัน นอกจากนั้น หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้ม เป็นต้น
- นิ่วทอนซิล
นิ่วทอนซิลมักเกิดกับผู้ที่มีปัญหาทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจมีอาการป่วยต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของนิ่วด้วย เช่น มีกลิ่นปาก เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก มีก้อนสีขาวที่มองเห็นได้บริเวณหลังช่องคอ ทอนซิลบวม หรือเจ็บบริเวณหู อันเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินประสาทระหว่างหูและต่อมทอนซิล เป็นต้น
- สาเหตุของนิ่ว
ก้อนนิ่วเกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุที่รวมตัวกันเป็นก้อนตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไป