สาเหตุของความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก เกิดขึ้นได้ดังนี้
– กินเนื้อสัตว์ นม ไข่ น้อยลง จากอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากการเจ็บป่วย หรือ ไม่มีฟันบดเคี้ยวเนื้อสัตว์ และ ผักที่เหนียว ทำให้ร่างกายได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จึงควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ และขอคำแนะนำ
– มีการเสียเลือดเรื้อรัง เช่น เป็นริดสีดวงทวาร หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ แล้วเกิดอาการถ่ายเป็นเลือดสด ในบางรายไม่ยอมบอกให้คนในครอบครัวทราบ จนเกิดเป็นอาการเรื้อรัง หรือ อยู่ในจุดที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงค่อยไปหาหมอ ทำให้มีความยุ่งยากในการรักษามากขึ้น
– มีอาการปวดเอ็นปวดข้อ ทำให้กินยาแก้ปวด หรือแก้ข้ออักเสบ เป็นประจำ จนทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล ส่งผลให้อุจจาระมีสีดำ (เกิดจากเลือด ที่หมักหมมระหว่างเดินทาง ลงมาที่ทวารหนัก)
โลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะซีด เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอาจมาจากการเสียเลือด การสร้างเม็ดเลือดแดงที่ลดลง หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากขึ้น
ภายในเม็ดเลือดแดงประกอบด้วยโปรตีนชื่อ ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นองค์ประกอบหลัก มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์ในร่างกาย ซึ่งกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงของผู้ใหญ่มักถูกสร้างขึ้นในไขกระดูกตามปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดแดงทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้นจากเซลล์เม็ดเลือดแดงต้นกำเนิดก่อนเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนและพัฒนาจนเป็นเม็ดเลือดแดงตัวแก่ในเพียงไม่กี่วัน จากนั้นจึงถูกปล่อยเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในหลอดเลือดนี้จะมีอายุประมาณ 120 วัน ก่อนจะถูกกำจัดออกไปโดยม้าม ตับ และไขกระดูก จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่อีกครั้ง เพื่อทดแทนของเก่าที่ถูกกำจัดไป เมื่อเกิดความผิดปกติในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง หรือความปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดง จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติขึ้น
อาการของภาวะโลหิตจาง
ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีอาการแตกต่างกันไปออกไปตามสาเหตุ ตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงรุนแรง หรือในบางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ จนกว่าภาวะโลหิตจางรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาการผิดปกติเป็นผลมาจากการทำงานของหัวใจที่หนักขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนจากเลือดมากขึ้น โดยอาการที่พบส่วนมาก ได้แก่
-รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้จะเป็นการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน
-มีอาการตัวซีด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
-หายใจลำบากขณะออกแรง
-มึนงง วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว
-มีอาการมือเท้าเย็น
-ผิวซีดหรือผิวเหลือง
-เจ็บหน้าอก ใจสั่น
-ในขั้นรุนแรง อาจทำให้หัวใจทำงานหนัก จนหัวใจล้มเหลว
มีผู้ป่วยสูงอายุหลายราย ไม่ทราบว่าอาการถ่ายดำ เกิดเพราะมีเลือดออก ในทางเดินอาหาร ปล่อยจนกระทั่งเสียเลือดมาก พออาการรุนแรง จนเห็นได้ชัด จากอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือ ใจสั่นใจหวิว จึงค่อยไปพบแพทย์
ในปัจจุบัน แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ ได้จากการตรวจวัด ปริมาณของ ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารประกอบหลัก ของเม็ดเลือดแดง (สารนี้ประกอบด้วย โปรตีน และ ธาตุเหล็ก ซึ่งทำหน้าที่ นำออกซิเจน ไปเลี้ยงเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย) ว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ สำหรับผู้ชาย ไม่ควรต่ำกว่า 13.5 กรัม ต่อเลือด 100 มล. และ ต้องไม่ต่ำกว่า 12 กรัม ต่อเลือด 100 มล. ในผู้หญิง