ปัสสาวะขุ่น บ่งบอกถึงอาการอะไรบ้าง
ปัสสาวะขุ่น คือ อาการที่สีของปัสสาวะมีลักษณะขุ่นเป็นตะกอน ไม่เป็นสีใสหรือสีเหลืองอ่อนตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การใช้ยา การกินอาหารบางชนิด หรือเกิดจากสาเหตุอื่นที่ทำให้ปัสสาวะมีลักษณะดังกล่าวอย่างโปรตีนหรือผลึกสารเจือปนในปัสสาวะ ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นต้น
สาเหตุของปัสสาวะขุ่น
ปัสสาวะที่ขุ่นเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ คือ ปัสสาวะที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างมาก
- มีเม็ดเลือดแดงอยู่ในปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด
- มีเม็ดเลือดขาวอยู่ในปัสสาวะจากการอักเสบของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นหนองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะอาจถูกปะปนด้วยตัวอสุจิ แบคทีเรีย พยาธิ หรือยีสต์
- มีโมเลกุลสารเคมีต่าง ๆ รั่วออกมาในปัสสาวะ เช่น โปรตีนไข่ขาว สารคีโตน
- ปัสสาวะอาจมีผลึกของสารบางชนิด เช่น ผลึกฟอสเฟต, ผลึกยูเรตจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือมีสารออกซาเลตในปัสสาวะสูงเกินไป
- ปัสสาวะปนเปื้อนกับอุจจาระในกรณีที่มีรูทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่
- ช่องคลอดอักเสบ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
ปัสสาวะมีลักษณะขาวขุ่นคล้ายน้ำนม (Chyluria) เป็นปัสสาวะที่มีน้ำเหลืองหรือไขมันปน เช่นในโรคเท้าช้าง จากการผ่าตัดไตเพียงบางส่วน (Partial nephrectomy) หรือจากการจี้ไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียง (Ablative) เพื่อการรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรืออุบัติเหตุของไต นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีต่าง ๆ หรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและนำไปสู่อาการปัสสาวะขุ่นหรือมีสีผิดปกติได้ เช่น
- อาหารบางชนิด การรับประทานอาหารบางชนิดในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น บีทรูท แบล็คเบอร์รี่
- ยาบางชนิด การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีปัสสาวะได้ แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ป่วย
- เพศ ในผู้ชายมักป่วยด้วยนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ในขณะที่ผู้หญิงมักป่วยจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจมีอาการตกขาวหรือมีการติดเชื้อในช่องคลอด
- อายุ ผู้สูงอายุในบางกรณีก็มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อันเป็นที่มาของการเกิดปัสสาวะขุ่นได้มากกว่า เช่น โรคไต โรคเบาหวาน
- ประวัติคนในครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตหรือนิ่วในไต อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยแบบเดียวกันนี้ขึ้นกับตนเองได้
- การออกกำลังกาย การออกกำลังหรือการใช้แรงงานอย่างหนักอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบปัสสาวะได้