สาระน่ารู้

วิธีรับมือ กับพวกที่มีนิสัยชอบหลอกตัวเอง

คำว่า รู้หน้าไม่รู้ใจ ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ แถมยังใช้ได้ดีในยุคสมัยของการสื่อสารเสรี
โลกทุกวันนี้ ข้อมูล ข่าวสาร คำพูด มันบิดเบี้ยวจากข้อเท็จจริงไปได้เกินเลยจนเราคิดไม่ถึง

สื่อต่าง ๆ ยังพอจะหลบเลี่ยงได้ แต่กับบางคนที่มักจะพบปะกันเสมอ ๆ บางทีมันก็เลี่ยงยาก
ที่ต้องสนทนาด้วย ถึงแม้จะมีการบิดเบือนทางวาจา แต่ถ้าไม่ได้ทำร้ายกัน ก็ถือว่าพอคบได้

แล้วทีนี้จะต้องวางตัวอย่างไร ถึงไม่รู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจ คงต้องเริ่มจาก สุภาษิตสุดฮิต
ที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ไม่พ่ายแพ้” โดยการเปิดใจ เพื่อทำความเข้าใจคนที่เป็นแบบนี้

โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar หรือ Mythomania หรือ Pseudologia fantastica)
ถือเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรม ที่เกิดจากการพูดโกหกจนเคยชินเพื่ออำพรางความจริง
ที่เขาไม่ยอมรับมัน จึงต้องสร้างข้อมูลปลอมมาใช้กลบเกลื่อนปมภายในจิตใจที่รู้สึกไม่ชอบ
จะได้ลดความกังวลใจที่มี เพื่อให้ตัวเองสบายใจ โดยบางทีก็ไม่รู้สึกตัวว่า5พูดอะไรออกไป

สำหรับบางราย ถ้าไม่ได้มีความก้าวร้าว รุนแรง หรือมีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ใด ๆ
ก็นับว่าไม่ได้ร้ายกาจจนต้องหลีกหนีให้ห่างไกล แต่ก็ยังคงอดรู้สึกไม่ได้ว่า ไม่น่าไว้ใจอยู่ดี

คำพูดโป้ปดของผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเอง มันแตกต่างกับ การโกหกสีขาว (White lie) ที่ถูก
ใช้เป็นบางครั้ง สำหรับสร้างความสบายใจให้กับผู้ฟัง นั่นคือการโกหกเพื่อผู้อื่น ซึ่งเนื้อหานี้
ยังคงจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดของ -ไวท์.ไล- แต่หยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบข้อแตกต่าง
ระหว่างการโกหกนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อความสบายใจของผู้ฟัง กับ การโกหกเพื่อปิดบังตัวเอง

ถึงจะระบุสาเหตุได้ไม่แน่ชัด แต่ก็พออนุมานได้ว่า สาเหตุของโรคนี้มาจากความป่วยทางใจ
เช่น การเป็นโรคต่อต้านสังคม  โรคหลงตัวเอง โรคย้ำคิดย้ำทำ มีบาดแผลทางจิตตั้งแต่เด็ก

แล้วการโกหกแบบไหน ที่เข้าข่ายโรคหลอกตัวเอง ?

โกหกแบบไม่มีวัตถุประสงค์แน่ชัด พูดอ้อมค้อมวกวนไปมา เหมือนพายเรือในอ่าง
สถานะที่ต้องการคือ อยากมีตัวตนในสังคม จนพล่ามได้เป็นคุ้งเป็นแคว ไปเรื่อย ๆ

เรื่องที่มักนำมาเล่าโกหก มักจะฟังแล้วรู้สึกสับสน ซับซ้อน และมีรายละเอียดเยอะ
แต่ปราศจากเหตุผลสอดคล้อง ซึ่งมักหยิบเรื่องอื่น ๆ มาปะติดปะต่อ จนมั่วไปหมด

เนื้อหาที่โกหก คือพยายามอธิบายว่าตัวเองคือพระเอก หรือไม่ก็ เป็นผู้ที่ถูกกระทำ
เหมือนกับกำลังเรียกร้องให้ผู้อื่นให้ความสนใจ เพราะขาดความโดดเด่นทางสังคม

คนเหล่านี้ สามารถโกหกได้โดยที่ ไม่รู้สึกผิด ละอายใจ หรือ ไม่กลัวว่าจะถูกจับได้
และเมื่อถูกจับได้ ก็จะยกเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ มาสาธยายกลบเกลื่อนให้ตัวเองพ้นผิด

ทำยังไงดี ถึงจะรับมือกับคนที่เป็นโรคหลอกตัวเอง ?

อย่าคิดโกรธหรือถือสา ต่อให้เรื่องที่เล่ามาจะน่าหงุดหงิดแค่ไหน ก็ต้องตั้งสติให้ดี
การปล่อยพลังลบใส่เขานอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว มันยังทำให้คุณดูไม่ดีอีกด้วย

อย่าคาดหวังว่าเขาจะไม่โกหก ควรใช้วิจารณญาณให้มากแล้วฟังด้วยความเมตตา

อย่าไปให้ท้ายเขา ถ้ามันเป็นเรื่องไม่จริง การเออออถือเป็นการสนับสนุนการโกหก

ให้การสนับสนุนในด้านดี คุณต้องหาคุณค่าในตัวเขาไม่ใช่เห็นคุณค่าในเรื่องที่เล่า
บอกเล่าความจริงในด้านดีของตัวเขา เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีมุมที่ดีที่น่ายกย่อง

ให้ความช่วยเหลือในการเยียวยา หากเขาไว้วางใจคุณ ก็เป็นโอกาสดีของคุณแล้ว
คำแนะนำที่ดีในทางที่ถูกที่ควร อย่างละมุนละไมด้วยน้ำใสใจจริงจะเหมาะสมที่สุด

การมีปฏิสัมพันธ์กับคนแบบนี้ มักจะทำให้หัวเสียเพราะคำโกหก เลยต้องพยายาม
อดทน อดกลั้น และมีความหนักแน่น โดยไม่ปล่อยตัวเองให้เอียงไปตามคำโกหก

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
credit : https://hellokhunmor.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8…

credit : https://image.freepik.com/free-photo/business-partners-shakingh…
credit : https://www.paulekman.com/wp-content/uploads/2020/01/Canva-d…
credit : https://hindi.cdn.zeenews.com/hindi/sites/default/files/2019/02/27/35…
credit : http://www.moriareviews.com/fantasy/adventures-of-pinocchio-1996.htm
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

 

Show More

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button