เมื่อสายตาเริ่มเสื่อมลง อาจทำให้ตาบอดสีได้

ตาบอดสี คือ อาการมองเห็นสีของภาพผิดไปจากที่คนอื่นเห็น ทำให้อาจเกิดอันตรายหรือความผิดพลาดได้ หากทำอาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านสี เช่น นักบิน คนขับรถ ทหาร เภสัชกร และกราฟฟิก ฉะนั้นการทำความเข้าใจรวมถึงทดสอบสายตาของตัวเองว่าผิดปกติหรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรับมือกับอาการอย่างเหมาะสม
ตาบอดสีเกิดจากอะไร?
ภายในจอประสาทตาจะมี โคนเซลล์ (Cone cell) ซึ่งคอยทำหน้าที่รับแสงที่เราเห็นผ่านจอตา ภายในโคนเซลล์จะมีเซลล์อีกชนิดที่เรียกว่า รงควัตถุ (Pigment) อยู่จำนวนมาก ทำหน้าที่รับรู้สีของภาพที่เห็น
เมื่อเรามองภาพต่างๆ โคนเซลล์ (ตัวรับแสง) และรงควัตถุ (ตัวรับสี) ในจอตาจะส่งข้อมูลไปให้สมองประมวลผลออกมาเป็นภาพที่มีสีสันต่างๆ โดยใช้สีหลักๆ ในการประมวลภาพ 3 สีคือ แดง เขียว น้ำเงิน แต่หากโครโมโซมที่มีผลต่อรงควัตถุเกิดความผิดปกติขึ้น ก็จะทำให้กระบวนการจำแนกสีผิดเพี้ยนไป
ตาบอดสีมีกี่ประเภท?
1. ตาบอดสีแดงและเขียว (Red-green color blindness)ตาบอดสีประเภทนี้จะพบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่ตาบอดสีแดงและเขียวจะมีความผิดปกติในการแยกความแตกต่างของสีแดง เขียว เหลือง และส้มได้ยาก หรืออาจเห็นเป็นสีเดียวกันทั้งหมด
2. ตาบอดสีน้ำเงินและเหลือง (Blue-yellow color blindness)ตาบอดสีน้ำเงินและเหลือง เป็นประเภทตาบอดสีที่พบได้น้อยกว่าประเภทแรก มักเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ตาบอดสีมาตั้งแต่กำเนิด คนตาบอดสีประเภทนี้มักตาบอดสีแดงและเขียวร่วมด้วย
3. ตาบอดสีทุกสี (Total color blindness)เป็นตาบอดสีประเภทที่พบได้น้อยที่สุด ผู้ป่วยจะมองเห็นเพียงสีขาวดำ แต่ยังคงรับรู้ถึงแสงและความเข้มได้ ประเภทนี้มักมีสายตาที่แย่ลงในระยะยาวด้วย
++ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งย่อยลงมาเป็นคนที่ตาบอดสีเฉพาะสีใดสีหนึ่งด้วย ++