ยาฆ่าแมลงที่เรารู้จักกันในนามชื่อย่อว่า ดีดีที

คำว่า ดีดีที ย่อมาจากคำว่า ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (dichlorodiphenyltrichloroethane) เป็นยาฆ่าแมลงประเภทสารสังเคราะห์ออร์กาโนคลอรีน นิยมใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ดีดีทีถูกสังเคราะห์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1874 โดย ออตมาร์ ซีดเลอร์ นักเคมีชาวออสเตรีย แต่เพิ่งมาค้นพบคุณสมบัติในการกำจัดแมลง ในปี ค.ศ. 1939 จากการค้นพบโดย พอล แฮร์มันน์ มูลเลอร์ นักเคมีชาวสวิส จากนั้น ดีดีที ได้ถูกนำมาใช้ในการควบคุมโรคมาลาเรีย และ ไข้รากสาดใหญ่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และ นิยมใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชและผลผลิตทางเกษตรกรรม ในช่วงหลังสงคราม
ถึงแม้ว่านักเคมีจะสังเคราะห์ dichlorodiphenyl trichloroethane หรือที่เรารู้จักในนามย่อว่า DDT ได้นานกว่าศตวรรษแล้วก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงเช่น ยุง เมื่อ 62 ปีก่อนนี้เองแล้ว หลังจากนั้นไม่นานคนทั้งโลกก็ได้ระดมพ่นฉีด DDT ฆ่ายุง จนทำให้องค์การอนามัยโลกกระหยิ่มยิ้มย่องว่า มาลาเรียจะตายจากโลกนี้ในเวลาอีกไม่นาน แต่ความจริงก็ปรากฏแล้วว่า ณ วันนี้ไม่เพียงแต่ยุงและมาลาเรียที่ยังคงอยู่คู่โลกแม้แต่ DDT ก็ยังคงอยู่เช่นกัน ทั้งๆ ที่รัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ห้ามการใช้ DDT อย่างเด็ดขาดก็ตาม ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า มันเป็นสารพิษที่มีส่วนในการทำให้สัตว์หลายชนิดเกือบสูญพันธุ์ มันทำร้ายระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของคน รายงานการวิจัยหลายชิ้นยังแสดงให้เห็นอีกว่า DDT มีส่วนในการทำให้ผู้ใหญ่เป็นมะเร็ง ทำให้เด็กมีสมาธิสั้น และความจำเด็กเสื่อม เป็นต้น
การระดมใช้ DDT อย่างขนานใหญ่เมื่อ 60 ปีก่อน ได้มีผลกระทบติดตามมาจนทุกวันนี้คือ สภาพแวดล้อมของโลกมี DDT สะสมคั่งค้างและคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร ต่างก็มี DDT สะสมในเนื้อเยื่อของร่างกาย เพราะละออง DDT ไม่สลายตัว ดังนั้น เวลามันระเหยไปในอากาศ ลมจึงสามารถพัดพามันไปได้ทุกหนแห่ง เวลาละอองกระทบความเย็นมันจะกลั่นตัวเป็นหยด DDT ตกลงดิน จึงไม่มีใครประหลาดใจที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบ DDT ในตัวนกเพนกวิน และหมีขั้วโลกเป็นครั้งคราว และสำหรับคนทั่วไปนั่นก็หมายความว่า สถานที่ใดที่ได้รับการฉีดพ่นด้วย DDT อีก 150 ปี สถานที่นั้นก็ยังไม่ปลอดภัย DDT อยู่ดี
ผู้คนเริ่มตระหนักในพิษของ DDT ต่อชีวิตในปี พ.ศ.2505 เมื่อได้อ่านหนังสือชื่อ Silent Spring ของ Rachel Carson ซึ่งได้บรรยายถึงบรรยากาศที่เงียบสงัดในฤดูใบไม้ผลิ เพราะปราศจากนกและแมลงใดๆ และสิ่งมีชีวิตนานาชนิดได้ถูก DDT และยาฆ่าแมลงชนิดต่างๆ ฆ่าตายหมด
การศึกษาพิษของ DDT และยาฆ่าแมลงเช่น aldrin chlorolane dieldrin endrin hepta chlor mirex toxaphene dioxin furar และ polychlorinated biphenyl ในอีก 10 ปีต่อมา ได้ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายระงับการใช้ DDT ทันที ส่วนยาฆ่าแมลงชนิดอื่นนั้น ผู้คนยังใช้กันน้อย เพราะมันมีราคาแพง จึงยังไม่ถูกระงับใช้ 100% จากนั้นก็มีงานวิจัยอีกมากมายที่ศึกษาโทษของ DDT ต่อการสูญพันธุ์ของนากในยุโรป การทำให้กระดูกปลาวาฬเปราะผิดปกติ การทำให้ปลาแปลงเพศจากเพศผู้เป็นเพศเมีย การมีสารประกอบ p, p.DDE ที่สามารถทำลายเชื้ออสุจิของผู้ชาย ซึ่งถ้าการทำลายนั้นรุนแรง คนคนนั้นจะเป็นหมันและเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือถ้าเชื้ออสุจิที่ผิดปกติได้ปฏิสนธิกับไข่ในผู้หญิง ทารกที่คลอดออกมาก็อาจมีอวัยวะที่ไม่สมประกอบ หรือในกรณีของเด็กที่รับ DDT เข้าร่างกายปริมาณมากเท่าที่ผู้ใหญ่รับ การมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่า จะทำให้ความเข้มข้นของ DDT ในตัวเด็กสูงกว่าในตัวผู้ใหญ่ DDT จึงทำอันตรายเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อเด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนานกว่าผู้ใหญ่ เด็กก็มีโอกาสเป็นโรคร้ายต่างๆ ได้สูงกว่าผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ DDT จึงเป็นพิษและเป็นภัยต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่มาก
ถึงแม้ DDT จะเป็นอันตรายระดับมหันต์สักปานใดก็ตาม แต่ก็มีรัฐบาลในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งได้อนุญาตให้ประชากรในประเทศใช้ DDT โดยไร้การควบคุม ทั้งนี้เพราะ DDT เป็นยากำจัดยุง ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพดี และมาลาเรียกำลังคุกคามหนักและทำให้พลโลก 3 ล้านคนเสียชีวิตทุกปี จากการไม่ได้รับการรักษาที่ดีและทันเวลา องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงยังคงมีความเห็นว่า DDT คือความหวังที่ดีที่สุดในการต่อสู้มาลาเรียของประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้
ทุกวันนี้โลกมียารักษามาลาเรีย แต่ไม่มีวัคซีนป้องกันมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพ ยุงก้นปล่อง Anopheles funestus และ Anopheles gambiae คือยุงตัวแสบที่เก่งในการนำเชื้อมาลาเรียสู่คน และเมื่อดินแดนแอฟริกามียุงชนิดนี้ชุกชุม และเชื้อมาลาเรียก็ร้ายรุนแรงประกอบกับผู้คนไร้การศึกษาและยากจน การระบาดของมาลาเรียจึงมีต่อเนื่องและไม่รู้จบ
ในอดีตเมื่อ 7 ปีก่อน รัฐบาลของประเทศแอฟริกาใต้ได้จัดตั้งโครงการกำจัดมาลาเรีย โดยสนับสนุนให้ประชากรเลิกใช้ DDT แล้วหันมาใช้ pyrethroid แทน เพราะ pyrethroid เป็นพิษน้อยกว่า แต่ก็ได้พบว่าหลังจากการใช้ไม่นาน เหล่ายุงแอฟริกามีภูมิคุ้มกัน pyrethroid เรียบร้อย และเมื่อประชากรของประเทศประมาณ 10% กำลังอาศัยอยู่ในบริเวณที่มาลาเรียคุกคามหนัก ดังนั้น รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงตัดสินใจนำ DDT มาฉีดเพื่อกำจัดมาลาเรียอีก แต่ก็แทบไม่ได้ผล เพราะในช่วงที่หยุดฉีด DDT ยุงได้พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของมัน จนสามารถต่อต้าน DDT ได้ดีขึ้นมาก การห้ามใช้ DDT จึงให้ผลกระทบในทางลบ
ใน Belize ก็ได้มีการสำรวจพบว่า พอหยุดใช้ DDT กำจัดยุง จำนวนคนไข้ที่ล้มป่วยด้วยมาลาเรียได้พุ่งสูงขึ้นมาก แต่ครั้นจะใช้ deltamethrin ฉีดฆ่ายุงแทน สารฉีดชนิดนี้ก็มีราคาแพงกว่า DDT ราว 3-4 เท่า ดังนั้น การระดมใช้ deltamethrin ทำให้งบประมาณสาธารณสุขของประเทศร่อยหรอจนการบริการสาธารณสุขด้านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้เลย
ณ วันนี้ การศึกษาขององค์การอนามัยโลก เรื่องการควบคุมการระบาดของมาลาเรียได้ข้อสรุปส่วนหนึ่งว่า การควบคุมนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสำเร็จในการควบคุมขึ้นกับปัจจัยหลายประการเช่น พื้นที่และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นชนิดของยุงที่แพร่เชื้อ ความเชื่อและการศึกษาของคนในท้องถิ่น และเหตุผลสุดท้ายคือ ฐานะทางเศรษฐกิจของคน ทั้งนี้เพราะพื้นที่บางพื้นที่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ DDT และในหลายพื้นที่ยาฆ่าแมลงอื่นๆ ก็ให้ผลดีโดยยุงที่ถูกฉีดพ่นด้วยยาไม่ได้พัฒนาภูมิต้านทานยานั้นๆ แต่อย่างใด ถึงอย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกก็ยังคงมีความเห็นว่าทุกโครงการกำจัดมาลาเรียจะต้องมีโครงการกำจัดยุงด้วย โดยอาจใช้การควบคุมเชิงชีวภาพ (biocontrol) เช่น ฝึกปลาหรือค้างคาวให้กินยุง หรือกำจัดพื้นที่แพร่พันธุ์ของยุง เป็นต้น ถึงแม้ประเทศต่างๆ จะเห็นด้วยกับความคิดของ WHO แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีประเทศใดในโลกมีโครงการกำจัดยุงที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเลย และยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่พบยาใหม่ที่จะใช้แทน DDT ได้ดีและคุ้มการลงทุน
วารสาร Science ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2545 ได้รายงานว่าวิธีการฆ่ายุงที่ดีที่สุด เห็นจะได้แก่การนอนกางมุ้งที่ได้รับการพ่นยาฆ่ายุง เพราะเวลายุงได้กลิ่นคนมันจะบินมากัดเพื่อสูบเลือด แต่เมื่อบินกระทบมุ้ง ยาฆ่าจะทำให้ปีกและขามันชาจนขยับบินไม่ได้ มันจึงร่วงตกพื้นเป็นอาหารของจิ้งจก กิ้งก่าหรือมดในที่สุด หรือถ้ามันยังไม่ถูกกิน ยาที่พ่นก็จะฆ่ามันภายในเวลา 2-3 วินาที รายงานการใช้เทคโนโลยีง่ายๆ นี้ให้ผลดีในหมู่บ้านที่ยากจนในทวีปแอฟริกา เพราะได้มีการสำรวจพบว่า เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งได้เสียชีวิตเพราะมาลาเรียได้ลดจำนวนลง 15-25% หากเด็กเหล่านั้นนอนกางมุ้ง ตัวเลขนี้ได้ทำให้ WHO วางแผนจะลดจำนวนเด็กที่เสียชีวิตลงให้ได้ถึง 60% ให้เด็กนอนกางมุ้งที่ได้รับการพ่น DDT ภายในปีพ.ศ. 2548 และถึงแม้ว่า มุ้งพ่นยาจะสามารถฆ่ายุงได้ 90% แต่ยุงที่เหลือก็ยังสามารถทำให้มาลาเรียระบาดได้ต่อไป เพราะเหตุว่าในแอฟริกามีคนจนมากมาย และมุ้งมีราคาแพง คือประมาณ 400 บาท ซึ่งเงินมูลค่านี้สามารถซื้อข้าวได้ 30 กิโลกรัม และซื้อมะม่วงได้ 200 ลูก คนจนเหล่านี้จึงนิยมนอนโดยไม่กางมุ้ง ซ้ำร้ายคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไร้การศึกษา จึงมักไม่รู้ว่าการที่ตนป่วยด้วยมาลาเรียนั้น เพราะถูกยุงกัด เขากลับคิดกันว่า ตนป่วยเพราะกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือไม่ก็ถูกคุณไสย ดังนั้น เขาจึงไม่ลงทุนซื้อมุ้งมากางปกป้องตนหรือครอบครัว ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในแอฟริกาจึงมีนโยบายแจกมุ้งให้คนจนฟรี และบังคับให้นำมุ้งมาฉีดพ่นยาทุก 6 เดือน ซึ่งก็คงต้องฉีดให้ฟรีอีก
ปัญหามาลาเรีย จึงเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่ทุกคนรู้ว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องการสมองของนักวิชาการและเงิน เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้